15/11/62

L708 Khon Kaen : เธออยู่ไหน

L708 Khon Kaen : เธออยู่ไหน

การทำความเข้าใจถึงการมีอยู่ของความเป็นคนอีสานที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ในมุมมองของรัฐนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเข้าใจได้ยาก และในขณะเดียวกันในมุมมองของคนอีสานเองก็ขาดความเป็นตัวของตัวเอง เกิดความลังเลและเกิดคำถามถึงการมีอยู่ และตัวตนของคนอีสานว่าจะต้องให้ความสำคัญกับรัฐกลางหรือความเป็นอีสานตามประเพณี หรือการหันไปฝักใฝ่ในรัฐสังคมนิยมตามบางพื้นที่ในภูมิภาคอีสาน ความลังเลได้ดำเนินมาจนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปัจจุบันความเป็นอีสานเดิมที่มีโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แบบดั้งเดิมได้ถูกความเป็นเมืองเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต ผู้คนชาวอีสานให้ความสำคัญกับความเป็นวัตถุ ค่านิยมที่ไหลบ่ามาทางสื่อต่าง ๆ เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิต ความเป็นตัวตนของชาวอีสานในแบบเดิมค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยเฉพาะชาวอีสานยุคใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายหลังที่อีสานมีความเป็นเมือง ที่ได้ก้าวข้ามพรมแดนของอีสานเดิมมาแล้ว จนผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถจะชี้ชัดได้ว่าตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเคยเป็นใคร จะไปทิศทางไหน อนาคตจะเป็นเช่นไร ถึงแม้ในบางครั้งเราอาจจะตอบอย่างมั่นใจได้ว่าเราเกิดในอีสาน โตในอีสาน แต่รูปแบบการใช้ชีวิตกลับมีความย้อนแย้งหาตัวตนที่แท้จริงไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอีสานในยุคหลังนี้เป็นผลสำเร็จจากชัยชนะของรัฐตั้งแต่อดีตที่พยายามรวม “พื้นที่ทางกายภาพอีสาน” และ “พื้นที่ทางชีวิต” ของชาวอีสานมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยส่วนกลาง โดยมีแม่แบบตามประเทศตะวันตกทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ผลในระยะยาวที่เกิดจากการเร่งพัฒนาและความไม่เข้าใจถึงสภาพที่แท้จริงของชาวอีสาน จึงทำให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามมา

สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดู (Interactive Art) โดยตัวผลงานมีลักษณะเป็น 3 มิติ ใช้สำเนาแผนที่ทางอากาศของจังหวัดขอนแก่น ชุด L708 เป็นส่วนพื้นรองรับหมุดธงชาติไทยที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการนำหมุดไปปักไว้ยัง “พื้นที่ทางกายภาพ” ของตัวเอง ผู้สร้างสรรค์ได้ทำการแก้ไขปรับเปลี่ยนตำแหน่งระวางในแผนที่สลับกันภายในชุดแผนที่เพื่อให้เกิดความสับสนระหว่างความเป็นตัวตนของผู้ชมกับพื้นที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตัวเอง ปฏิสัมพันธ์ได้ดำเนินไปจนกระทั่งนิทรรศการสิ้นสุดลง พื้นที่ของแผนที่จำลองนั้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรูปทรงใหม่ที่เต็มไปด้วยหมุดหมายของรัฐไทย การจัดวางผลงานจะวางไว้บนพื้นห้องนิทรรศการในลักษณะเหมือนมุมมองจากด้านบนเหมือนรัฐมองผู้คนชาวอีสานผ่านแผนที่ทางกายภาพ










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น