18/7/59

การตั้งคำตอบ – การตั้งคำถาม

การตั้งคำตอบ – การตั้งคำถาม
อนุรักษ์ โคตรชมภู
ไม่ใช่บทความ : Hypothesis art exhibition


      ตอนผมยังเด็กพ่อของผมมักจะบอกผมว่าให้เอาอย่างคนนั้นคนนี้ เอาอย่างครอบครัวคนอื่นที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหน้าที่การงานและฐานะ แกมักจะพูดเสมอว่าเห็นมั๊ยนายนั่นนางนี่ ลูกแม่ใหญ่นั่น พ่อใหญ่นี่ มันเก่งทั้งขยันเรียนสอบเข้าโรงเรียนดัง ๆ ได้ ลูกต้องทำให้ได้อย่างเขานะเห็นมั๊ยไอ้นั่นมันสอบติดมหาวิทยาลัยได้มันเก่งมาก ประโยคเหล่านี้ก้องอยู่ในหูผมทุกวัน แน่นอนพ่อผมต้องคอยกระตุ้นเตือนลูก ๆ ให้มีแบบแผนมีแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะครอบครัวของเราเป็นครอบครัวยากจนมีอาชีพปกติธรรมดาคือชาวนาการมีชีวิตและอนาคตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ย่อมเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของผู้เป็นพ่อ
      พ่อผมมักจะตั้งคำตอบไว้ในใจและชี้นำให้ผมดำเนินชีวิตตามแบบแผนหรือตัวอย่างจากการใช้ชีวิตของคนรอบข้าง จากครอบครัวอื่นจากสิ่งที่เห็นว่าสมบูรณ์ แน่นอนมันเป็นสิ่งที่ดีที่เด็กคนหนึ่งจะถือเป็นแบบอย่างและดำเนินรอยตาม ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักจะตั้งคำตอบแบบนี้เพื่อใช้ในการอบรมสั่งสอนผู้ที่อยู่ในความอุปการะ แต่มีใครบ้างไหมที่จะตั้งคำถามแทนการตั้งคำตอบว่าการใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตที่เราเห็นว่าสมบูรณ์ เพียบพร้อมนั้น มีที่มา มีเหตุปัจจัย และมีความเหมาะสมในการนำมาใช้กับการดำเนินชีวิตของเรา ครอบครัวเรา สังคมเราหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่อาจจะใช้ได้ หรืออาจจะสมควรถูกต้องเหมาะสมกับเฉพาะบางครอบครัวและใครบางคนเท่านั้น
      การตั้งคำตอบเป็นสิ่งที่ดีจากกรณีข้างต้นถ้าคำตอบนั้นถูกดำเนินไปด้วยการตั้งคำถามและระหว่างการตั้งคำถามนั้นได้ถูกทดลองปฏิบัติพิจารณาและวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมความเป็นไปได้ในการนำไปใช้จริงและเมื่อคำตอบนั้นถูกนำไปทดลองแล้วจึงผ่านกระบวนการของการนำไปใช้จริง การตั้งคำตอบเอาไว้เบื้องต้นอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไปเพราะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของการใช้ชีวิตความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
       การให้ความสำคัญกับการตั้งคำตอบจากบริบทของคนอื่นจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตหรือที่หลาย ๆ คนเข้าใจว่าการคิดผิดโดยไม่ทันได้ไตร่ตรองใคร่ครวญจึงเป็นภาพสะท้อนถึงสังคมในปัจจุบันที่คนเรามักตั้งคำตอบตามแบบอย่างของคนอื่นจนเกิดเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบหรือเอาเยี่ยงอย่างโดยขาดความเหมาะสมขาดการวิเคราะห์พิจารณาถึงคำตอบด้วยตนเอง เพราะง่ายนิดเดียวคือมีคนตั้งคำตอบไว้ให้แล้ว
       ผมอาจจะโชคดีที่การตั้งคำตอบของพ่อผมถูกนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของผมไม่ได้ทั้งหมด เพราะผมเลือกที่จะตั้งคำถามถึงคำตอบนั้นและค้นหาในความเหมาะสมสำหรับตนเองและหลาย ๆ การตั้งคำตอบนั้นเป็นสิ่งที่ดีเมื่อเวลาสถานการณ์ผ่านไปยังใช้ได้อยู่เท่าทุกวันนี้ถึงแม้ว่าคำตอบนั้นมันอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้างตามบริบทรอบข้าง แต่มันก็ได้ถูกขัดเกลาจากคำถามของผมเอง จนเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับชีวิตของผมเอง

      กรณีพ่อของผมถือเป็นตัวอย่างที่ดีและใกล้ตัวมีความเหมาะสมที่จะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อสะท้อนไปถึงครอบครัวของใครหลาย ๆ คน ลองคิดดูว่าถ้าบางครอบครัวที่มีการตั้งคำตอบให้กับคนในครอบครัวโดยไม่ผ่านการคิดวิเคราะห์จนมีการนำมาใช้ดำเนินชีวิตแบบผิด ๆ จนเป็นการยึดติดและยึดถือว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ดีสมควรเหมาะสมแล้วสุดท้ายคำตอบนั้นก็หยั่งรากลึกดั่งสะท้อนให้เห็นในสังคมปัจจุบันถึงพฤติกรรมเลียนแบบนิยมจนเป็นผลกระทบในวงกว้างเช่นนี้เองการพิจารณา การวิเคราะห์คำตอบโดยการตั้งคำถามและทดลองจนได้คำตอบที่แท้จริงเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
       พ่อของผมเป็นคนที่ชอบทำบุญชอบเข้าวัดฟังธรรมมีกิจการงานในวัดแกก็จะชอบไปช่วยเหลือโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เพราะผลตอบแทนนั้นคือความสุขที่ได้จากทางใจ บ่อยครั้งที่พ่อถูกให้ไปช่วยเหลือในการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในวัดแกก็รีบที่จะไปช่วยด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังในค่าตอบแทนเช่นกันผลที่ได้คือความสบายทางใจความสบายทางกายแน่นอนย่อมไม่มีหลายครั้งที่อาการไม่สบายทางกายรุกเร้าเข้ามาควบคู่กับความสบายทางใจนี้ แน่นอนพ่อของผมต้องมีการตั้งคำตอบเอาไว้ล่วงหน้าอีกเช่นเคยและกำลังอยู่ในช่วงของการทดลองปฏิบัติตามคำตอบที่ได้ตั้งเอาไว้ การได้ช่วยเหลือการได้เข้าวัดทำบุญและการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดีเหมาะสมและการที่เราได้ดำเนินชีวิตเช่นนี้เมื่อเกิดชาติภพใหม่จะได้มีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่เมื่อชีวิตสิ้นสุดความเป็นมนุษย์ลงแล้วก็จะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีอันเนื่องมาจากกุศลผลบุญที่เคยทำในชาตินี้เอาไว้

      การตั้งคำตอบของพ่อผมถือเป็นคำตอบที่ถูกนำมาใช้ในสังคมของชาวพุทธทั่วไปถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะมีผู้ได้ทดลองปฏิบัติและเห็นผลของคำตอบนั้นโดยประจักษ์และถูกดำเนินไปอย่างเหมาะสม แต่ในบางการตั้งคำตอบนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้จนถือเป็นเรื่องที่ขาดการพิจารณาวิเคราะห์จนทำให้เกิดการลงมือกระทำโดยที่ผลยังไม่เกิดและผลที่เกิดขึ้นนั้นเรายังไม่รู้ถึงความเป็นจริงส่วนใหญ่แล้วการตั้งคำตอบของพ่อผมในกรณีนี้เป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่เสียทั้งหมดเพราะขณะที่พ่อทดลองเพื่อหาคำตอบนั้น อยู่มาวันหนึ่งในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแกล้มป่วยและเข้าโรงพยาบาลอย่างกะทันหันเนื่องจากอาการปวดหลังจนเดินไม่ได้หมอวินิจฉัยว่าแกเป็นเนื้องอกที่กระดูกสันหลังและนั่นก็คือ “การตั้งคำตอบของคุณหมอ”
       การตั้งคำตอบของพ่อของผมข้างต้นจึงจำเป็นต้องมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมดารที่เราจะก่อกุศลหรือช่วยเหลือคนอื่นนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์เวลาและโอกาสการช่วยเหลือคนอื่นจนเกิดเป็นผลร้ายต่อตนเองและครอบครัวนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นคำตอบที่ดีนักเพราะสุดท้ายเราก็ไม่มีพละกำลังที่จะไปทำตามคำตอบนั้นอีกต่อไป
       พระพุทธองค์ทรงสอนถึงเรื่องหลักกาลามสูตร 10 ข้อ สอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงายควรใช้เหตุผลใช้ปัญญากำกับความเชื่อ และให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลองปฏิบัติพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อรู้แจ้งจนเกิดเป็นผลดีด้วยตนเองไม่ต้องคาดเดา แต่สังคมชาวพุทธในปัจจุบันขาดซึ่งการพิจารณาวิเคราะห์ในเรื่องนี้จนเกิดเป็นการตั้งคำตอบเอาไว้เพียงเพราะมีคำสอนแต่ขาดการวิเคราะห์และการนำเอาไปใช้จริง รู้ว่ามีคำสอน รู้ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ดีมีอยู่จริงสามารถจับต้องได้ เห็นผล แต่ขาดการไตร่ตรองว่าหลักปฏิบัติหรือแก่นที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใด มีคำสอนก็ท่องจำ มีรูปเคารพก็กราบไหว้ ข้อนี้จึงทำให้กลุ่มบุคคล

หรือสถาบันบางแห่งเห็นข้อได้เปรียบหยิบยกหลักธรรมเพียงเพื่อหวังชักจูงให้ผู้ที่เขลาขาดการวิเคราะห์ถึงความถูกต้องเหมาะสมหันมานิยมชมชอบถึงตัวบุคคลแทนที่จะเป็นหลักธรรมคำสอนจึงทำให้หลักธรรมคำสอนนั้นเป็นเพียงข้ออ้างหรือคำตอบเพื่อชี้นำผู้อื่น คำสอนจึงเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ เพียงเพื่อหวังประโยชน์อย่างอื่นเราในฐานะพุทธศาสนิกชนต้องพึงตระหนักถึงหลักของกาลามสูตรนี้อย่าให้คำตอบที่คนอื่นตั้งเอาไว้นั้นมากลายเป็นคำตอบของเราและควรที่จะศึกษาใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาวิเคราะห์ถึงหลักคำสอนให้เข้าใจถ่องแท้และเข้าถึงด้วยตัวของเราเอง
      ที่กล่าวมาและยกตัวอย่างทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งคำตอบนั้นมีสิ่งที่พึงกระทำคือการตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการของการทดลองปฏิบัติคัดกรองจนเกิดเป็นคำตอบที่ถูกต้องและมีความเหมาะสม ไม่ใช่เพียงเพราะว่าคำตอบนั้นเป็นคำตอบของคนอื่นและมีความสมบูรณ์แล้วในแบบของเขา การสร้างสรรค์ผลงานในชุดนี้จึงเป็นเพียงการตั้งคำถามถึงชีวิต การตั้งคำถามถึงกรอบสูตรสำเร็จที่บุคคลอื่นได้คิดและวางให้เราได้ดำเนินนั้นมีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใดเพราะทุกอย่างหาความมั่นคงแน่นอนไม่ได้ เราไม่ควรไปยึดติดจนเกินไป “สมมติฐาน” ของชีวิตก็เหมือนกับ “สมมติฐาน” ในทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีการทดลองปฏิบัติหาถึงความเหมาะสมและได้มาซึ่งคำตอบ คำตอบนั้นอาจะเป็นจริงทั้งหมด เป็นจริงบ้าง หรือไม่เป็นจริงทั้งหมด แต่นั่นก็ทำให้เรารู้และนำมาปรับปรุง แต่ที่สุดแล้วทั้งชีวิตจริงและวิทยาศาสตร์ก็ย่อมมีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาไม่มีอะไรแน่นอนไม่ควรยึดติด เพราะสุดท้ายเรามาจากไหน สิ้นสุดลงเมื่อใด ที่ไหน ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ เพราะนี่คือความไม่แน่นอนของทุกสรรพสิ่ง