15/11/62

L708 Khon Kaen : เธออยู่ไหน

L708 Khon Kaen : เธออยู่ไหน

การทำความเข้าใจถึงการมีอยู่ของความเป็นคนอีสานที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ในมุมมองของรัฐนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเข้าใจได้ยาก และในขณะเดียวกันในมุมมองของคนอีสานเองก็ขาดความเป็นตัวของตัวเอง เกิดความลังเลและเกิดคำถามถึงการมีอยู่ และตัวตนของคนอีสานว่าจะต้องให้ความสำคัญกับรัฐกลางหรือความเป็นอีสานตามประเพณี หรือการหันไปฝักใฝ่ในรัฐสังคมนิยมตามบางพื้นที่ในภูมิภาคอีสาน ความลังเลได้ดำเนินมาจนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปัจจุบันความเป็นอีสานเดิมที่มีโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แบบดั้งเดิมได้ถูกความเป็นเมืองเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต ผู้คนชาวอีสานให้ความสำคัญกับความเป็นวัตถุ ค่านิยมที่ไหลบ่ามาทางสื่อต่าง ๆ เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิต ความเป็นตัวตนของชาวอีสานในแบบเดิมค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยเฉพาะชาวอีสานยุคใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายหลังที่อีสานมีความเป็นเมือง ที่ได้ก้าวข้ามพรมแดนของอีสานเดิมมาแล้ว จนผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถจะชี้ชัดได้ว่าตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเคยเป็นใคร จะไปทิศทางไหน อนาคตจะเป็นเช่นไร ถึงแม้ในบางครั้งเราอาจจะตอบอย่างมั่นใจได้ว่าเราเกิดในอีสาน โตในอีสาน แต่รูปแบบการใช้ชีวิตกลับมีความย้อนแย้งหาตัวตนที่แท้จริงไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอีสานในยุคหลังนี้เป็นผลสำเร็จจากชัยชนะของรัฐตั้งแต่อดีตที่พยายามรวม “พื้นที่ทางกายภาพอีสาน” และ “พื้นที่ทางชีวิต” ของชาวอีสานมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยส่วนกลาง โดยมีแม่แบบตามประเทศตะวันตกทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ผลในระยะยาวที่เกิดจากการเร่งพัฒนาและความไม่เข้าใจถึงสภาพที่แท้จริงของชาวอีสาน จึงทำให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามมา

สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดู (Interactive Art) โดยตัวผลงานมีลักษณะเป็น 3 มิติ ใช้สำเนาแผนที่ทางอากาศของจังหวัดขอนแก่น ชุด L708 เป็นส่วนพื้นรองรับหมุดธงชาติไทยที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการนำหมุดไปปักไว้ยัง “พื้นที่ทางกายภาพ” ของตัวเอง ผู้สร้างสรรค์ได้ทำการแก้ไขปรับเปลี่ยนตำแหน่งระวางในแผนที่สลับกันภายในชุดแผนที่เพื่อให้เกิดความสับสนระหว่างความเป็นตัวตนของผู้ชมกับพื้นที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตัวเอง ปฏิสัมพันธ์ได้ดำเนินไปจนกระทั่งนิทรรศการสิ้นสุดลง พื้นที่ของแผนที่จำลองนั้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรูปทรงใหม่ที่เต็มไปด้วยหมุดหมายของรัฐไทย การจัดวางผลงานจะวางไว้บนพื้นห้องนิทรรศการในลักษณะเหมือนมุมมองจากด้านบนเหมือนรัฐมองผู้คนชาวอีสานผ่านแผนที่ทางกายภาพ










Flow : L708 Tetris

Flow : L708 Tetris

เกมส์เตตรีส (Tetris) ถูกสร้างขึ้นจากวิศวกรคอมพิวเตอร์ชาวรัสเซียใน ค.ศ. 1984 เป็นที่นิยมเล่นอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกในเวลานั้น ต่อมาบริษัทนินเทนโด (Nintendo) ของอเมริกาได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นเกมส์แบบพกพาเป็นที่แพร่หลายมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ สิ่งที่ทำให้เตตรีสได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และประสบความสำเร็จไปทั่วโลก นั่นคือ หลักการจัดระเบียบที่สอดแทรกอยู่ในเกมส์ เพราะในทางจิตวิทยานั้น มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็น Perfectionist และปรารถนาที่อยากจะหลีกหนีจากความซับซ้อนวุ่นวายที่ซ่อนลึกอยู่ภายในจิตใจ จากนั้นเตตรีสจะดึงความสนใจให้ติดอยู่กับเกมส์ด้วยภารกิจทำลายบล็อคที่หล่นลงมาอย่างไม่จบสิ้น ทำให้มีผู้เล่นเกมส์นี้ที่ติดถึงขนาดคิดจะจัดระเบียบสิ่งของทุกอย่างในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการจอดรถ หรือของที่วางที่ซุปเปอร์มาเก็ต บางคนสามารถมีอาการได้ถึงขั้นที่เห็นบล็อกเตตรีสหล่นลงมาในฝัน อาการเหล่านี้เรียกว่า เตตรีส เอฟเฟค (Tetris Effect) อย่างไรก็ตามเกมส์นี้ก็ยังมีข้อดีอยู่ เพราะจากการวิจัยทางการแพทย์พบว่าเตตรีสสามารถช่วยบรรเทาอาการโรค PTSD หรือผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียดหลังจากเจออย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ และทหารที่เพิ่งกลับจากการรบ เพราะรูปแบบภารกิจของเกมส์ที่ต้องเกาะติดกับการเลือกชิ้นส่วนที่เหมาะสมลงในช่องว่างนั้น สามารถดึงสมาธิ และความสนใจของผู้ป่วย ไม่ให้มีการฉายภาพความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมาในสมอง ซึ่งนั่นก็จะสามารถช่วยลดอาการความเครียดได้นั่นเอง (วอส์ยทีวี: 2556)
          ลักษณะการเล่นเกมส์ของเตตรีสที่เป็นการเรียงช่องสี่เหลี่ยมนี่เองที่มีส่วนคล้ายกับการเรียงและการปะติดปะต่อพื้นที่ทางกายภาพของการสร้างแผนที่ทางอากาศในยุคสงครามเย็น ผู้สร้างสรรค์มีความเห็นว่าลักษณะการสร้างแผนที่และการมองพื้นที่ของอีสานเป็นเพียงแค่เกมส์การเมืองของรัฐไทยและอเมริกาการจัดวางพื้นที่ การสำรวจเกิดด้วยการถ่ายภาพทางอากาศไปทีละระวางบนแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกิดการเรียงปะติดปะต่อจนครบตามความประสงค์ โดยมีรัฐบาลกลางและอเมริกาเป็นผู้เล่น และชาวอีสานเป็นผู้ถูกจัดวาง นักจิตวิทยาได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าเกมส์เตตรีสจะเป็นที่นิยมเล่นเพื่อลดแรงกดดันจากเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้เล่นเกิดความกังวน และจะผ่อนคลายลงเมื่อประสบผลสำเร็จในการเล่น ผู้สร้างสรรค์มองว่าลักษณะดังกล่าวสามารถเทียบเคียงกับความกังวลของอเมริกาและรัฐไทยในภูมิภาคอีสาน เกิดกดดัน ความกลัวเกรงว่าชาวอีสานจะหันไปนิยมระบอบสังคมนิยม จึงได้สร้างกระบวนการหรือกลไกในการผ่อนคลายแรงตรึงเคลียดลงด้วยวิธีการเข้ามาจัดการ “พื้นที่” และคนอีสาน เมื่อได้ผลสำริดในระดับหนึ่งแล้วจึงลดความตรึงเคลียดนั้นลง ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เป็นงานทัศนศิลป์แบบจัดวางเกมส์และภาพกราฟิกแบบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม (Interactive Game Installation) ผลงานจะบรรลุเป้าหมายในการรับรู้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือเล่นเกมส์และได้ชมงานกราฟิกบนหน้าจอมอนิเตอร์ ประกอบกับตัวอักษร (Text) อธิบายผลงาน มีการนำภาพแผนที่ทางอากาศแบบกราฟิกมาใช้ในงานอีกองค์ประกอบหนึ่งเพื่อให้ผู้ชมผลงานเกิดจินตนาการเชื่อมโยงและพยายามอ่านสารที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการสื่อ












"การพยายามทำความเข้าใจเพียง 15 วินาที"

"การพยายามทำความเข้าใจเพียง 15 วินาที" Negative Afterimage, 2019

การทำแผนที่ทางอากาศในช่วงยุคสงครามเย็นเป็นที่มาในการสร้างสรรค์ผลงาน
ชิ้นนี้การทำแผนที่ทางอากาศเกิดจากความร่วมมือของรัฐไทยกับสหรัฐอเมริกาใน
ช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยเกิดความไม่มั่นใจในความมั่นคงของจังหวัดชายแดนอีสานที่มี
อาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว เนื่องด้วยความต้องการให้คนอีสานไม่หันไปฝักใฝ่ใน
การปกครองระบอบสังคมนิยม การเข้ามาจัดการโดยการมองพื้นที่อีสานเป็นเพียงพื้นที่
ที่ต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบ การเข้ามามีบทบาทของภาครัฐกับชุมชนชาวอีสาน การ
สำรวจโดยการลงพื้นที่อีสานมีเป้าประสงค์เพื่อสอดส่งดูแลไม่ให้ชาวอีสานหันไปนิยม
และมีอุดมการณ์ร่วมกับคอมมิวนิสต์ การสร้างแผนที่ด้วยภายถ่ายทางอากาศโดย
เทคโนโลยีสมัยใหม่ของอเมริกาในขณะนั้นจึงเป็นเครื่องมือของรัฐชั้นดี ทุกตารางเมตร
ในพื้นที่ของอีสานถูกตั้งหมุดหมายและกำหนดลักษณะทางกายภาพลงบนกระดาษ 
ทำให้รัฐไทยและอเมริกาสามารถรับรู้ที่ตั้งของชุมชนและสิ่งปลูกสร้างทุกอย่าง 
ผ่านการสำรวจและการทำแผนที่ หากแต่การสำรวจและการสร้างแผนที่นั้นเป็นการมอง
ผ่านกรอบทางการเมือง และยุทธศาสตร์การทหาร ของบุคคลภายนอกพื้นที่ ที่สำคัญ
คือการเข้าไปสำรวจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในความต้องการของชาว
อีสานอย่างแท้จริง จึงเป็นการสรุปและดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นคน
อีสานมีการเคลื่อนตัว และเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาเนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่แห้ง
แล้งจำเป็นต้องย้ายถิ่นเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น “พื้นที่” ทางกายภาพที่สามารถเป็น
หมุดหมายที่จะบ่งบอกว่าพื้นที่นั้นคือชนกลุ่มไหนเชื้อชาติอะไรเป็นคอมมิวนิสต์หรือ
ไม่ที่เคยสำรวจไว้จึงใช้ไม่ได้กับผู้คนชาวอีสาน จึงเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจ 
และยากที่จะรวมรัฐเข้าสู่ศูนย์กลางในช่วงเวลานั้น

การทำแผนที่ทางอากาศจึงเป็นเพียงภาพตัวแทนทางกายภาพของพื้นที่อีสาน 
ที่ปรากฏอยู่บนกระดาษเท่านั้น แต่แผนที่นั้นไร้ซึ่งความมีชีวิตของผู้คนชาวอีสาน 
การเข้ามาของอเมริกาในไทยอีกประการคือการมาใช้ไทยเป็นที่ตั้งฐานทัพทางทหาร
ในช่วงสงครามเวียดนาม เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐไทยและอเมริกามองชาวอีสานเป็นเพียง
พื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น เพื่อต้องการสร้างความเป็นรัฐแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์
กลางกรุงเทพฯ และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความหวังของชาวอีสานไม่ได้รับการตอบสนอง

ผู้สร้างสรรค์ได้นำเทคนิค ภาพติดตาแบบเนกาทีฟ (Negative Afterimage) มาใช้
ในกาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้โดยภาพติดตานั้นเป็นปฏิกิริยาการรับรู้ทางสายตาของ
มนุษย์ ความรู้สึกในการเห็นภาพค้างอยู่ในสมองได้ชั่วขณะทั้ง ๆ ที่ไม่มีภาพของวัตถุ
นั้นอยู่บนจอภาพแล้ว ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างภาพถ่ายในแบบเนกาทีฟ ให้ผู้ชมได้จ้อง
มองภาพระยะหนึ่งแล้วหันไปมองภาพพื้นสีขาว จะทำให้เห็นภาพติดตาชั่วขณะและ
ความเป็นตัวตนจริง ๆ ของผู้สร้างสรรค์จะปรากฏขึ้น และภาพเนกาทีฟที่ติดตาอยู่ก็
จะกลับค่าของสีเป็นภาพจริง




Art Festival【 Painnale 2018 : LOST MAP 】

Art Festival【 Painnale 2018 : LOST MAP 】
by Painnale organization, at Chiang Mai, At “The Plaza” building( third floor), Night Bazaar, Chang Klan Road, Chiang Mai



ถนนมิตรภาพถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ในระยะแรกเส้นทางเริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรีถึงนครราชสีมาระยะทาง 148 กิโลเมตร โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา จึงได้ถูกตั้งชื่อว่า “ถนนมิตรภาพ” เพื่อแสดงถึงความเป็นมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ ต่อมา พ.ศ. 2504 ได้สร้างถนนมิตรภาพต่อจากนคราชสีมาจนถึงหนองคายรวมระยะทาง 360 กิโลเมตร ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM)
ทำพิธีส่งมอบในช่วงที่ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และในพิธีเปิดใช้ถนนนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับราษฎรเอาไว้ว่า

“ถนนหนทางมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ในท้องถิ่นใดก็ตามที่มีถนนไปถึง ความเจริญของท้องที่ การเพิ่มพูนขยายตัวของการทำมาหากินและรายได้ของประชาชนก็ย่อมจะบังเกิดเป็นเงาตามตัวมาด้วย ทางหลวงสายนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อมวลชนและทรัพยากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมาก เพราะจะช่วยเชื่อมชุมนุมชน ไร่นา และตลาดในท้องที่สำคัญๆ หลายแห่ง ให้ใกล้ชิดติดต่อกัน และจะเปิดทางเพื่อการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ดังเช่นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ในความเจริญทางเศรษฐกิจที่บังเกิดขึ้นกับอาณาบริเวณถนนมิตรภาพในเวลาอันไม่นานมานี้”

การสร้างถนนมิตรภาพนอกจากจะเป็นนโยบายการพัฒนาด้านสาธารณประโยชน์การคมนาคมแล้วการก่อสร้างถนนมิตรภาพนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐไทยกับอเมริกาซึ่งการเข้ามาของอเมริกานอกจากจะให้การสนับสนุนในการทำถนน ยังมีการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการสร้างแผนที่ทางอากาศโดยการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสงครามเย็นการที่ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมที่มีต้นทางจากโซเวียตและจีนในสมัยนั้นทำให้ดินแดนอินโดจีน เช่น เขมร เวียดนาม ลาว ที่ติดชายแดนไทยมีการปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ทางรัฐไทยและสหรัฐอเมริกามีความเป็นกังวลใจว่าชาวอีสานซึ่งมีเขตแดนติดกับประเทศเหล่านี้ และยังมีเชื้อสายเดิมเป็นชาวลาว จะมีความเอนเอียง จึงได้หาวิธีในการที่จะให้ชาวอีสานเกิดความสำนึกในความเป็นไทยและยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบตะวันตกนั่นก็คือประชาธิปไตย นโยบายการพัฒนาต่าง ๆ จึงไหลบ่ามาทางภาคอีสานในยุคนี้ และเพื่อเป็นการสอดส่งดูพฤติกรรมของชาวอีสานและพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง รัฐบาลจึงมีการสำรวจและจัดทำแผนที่ทางอากาศทุกที่ของประเทศ การมอง “พื้นที่” ของภาคอีสานในช่วงนี้จึงเป็นการมองอีสานเป็นเพียง “พื้นที่ทางยุทธศาสตร์” เพียงเพื่อหวังความมั่นคงและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐ โดยรัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับ “พื้นที่ของความเป็นคนอีสาน” อย่างแท้จริงทำให้การพัฒนาดังกล่าวขาดความเข้าใจ ขาดความรู้ ขาดความร่วมมือที่แท้จริงจากภาคประชาชน ถนนมิตรภาพที่สร้างขึ้นจึงมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ และถนนมิตรภาพเองยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต โครงสร้างทางสังคมของชาวอีสาน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อ ประเพณีดั้งเดิม เปลี่ยนผ่านไปเป็นวิถีชีวิตของความเป็นเมือง ตามแบบอย่างทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่รัฐไทยพยายามให้ทุกพื้นที่ในภาคอีสานเป็นอย่างประเทศทุนนิยมตะวันตก

ผู้สร้างสรรค์สร้างงานในรูปแบบ วีดีโออาร์ต (Video Art) โดยใช้แผนที่ทางอากาศของจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่ที่รัฐไทยให้ความสำคัญกับการวางนโยบายการพัฒนาและแผนที่ดังกล่าวมีเส้นทางถนนมิตรภาพตัดผ่านชัดเจน และใช้รูปทรงของถนนที่ก่อรูปขึ้นจากจุดเริ่มต้นด้านล่างของภาพไปสู่ด้านบนแล้วร่วงตกลงมา การก่อรูปขึ้นของถนนมีลักษณะเป็นเส้นเหมือนการพุ่งทยายขึ้นของบั้งไฟ และตกลงมายังพื้นเหมือนกัน รูปทรงองค์รวมที่เกิดขึ้นของเส้นมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อ และความศรัทธาเดิมของชาวอีสาน วีดีโออีกส่วนหนึ่งที่นำมาตัดต่อร่วมกันคือวีดีโอเส้นของควันบั้งไฟที่ทยานขึ้นไปบนท้องและขณะเดียวกันก็ทยานลงมาในลักษณะที่สวนทางกัน เพื่อทำให้ผลงานมีการรับรู้ที่มากขึ้นผู้สร้างสรรค์ยังได้นำเสียงมาใช้ในการตัดต่อร่วมด้วย งานชิ้นนี้จึงประกอบด้วยภาพวีดีโอและเสียง นำเสนอผลงานผ่านการฉายจากเครื่องฉายภาพลงบนจอรองรับโดยการจัดสถานที่ให้ผู้ชมงานได้มีระยะการชมที่เหมาะสมด้วยการใช้เก้าอี้เป็นตัวกำหนดระยะ














Khon Kaen Manifesto

Khon Kaen Manifesto : GF Building, Khon Kaen, Thailand

ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน ในแต่ละส่วนจะมีความสำคัญที่จะช่วยเป็นส่วนเสริมทางด้านการรับรู้เนื้อหาและแนวความคิดที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการที่จะแสดงออก แลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่การแสดงผลงานคือตึก GF ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นตึกร้างในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ประมาณ พ.ศ. 2542 ในอดีตตึกนี้เป็นตึกสถาบันการเงิน แต่เนื่องด้วยปัญหาการเงินต่อมาสถาบันจึงได้ปิดทำการลง ตึกนี้จึงเป็นสัญลักษณ์และเป็นตัวแทนของความล่มสลายและเป็นผลกระทบจากนโยบายของรัฐในภาคอีสานได้เป็นอย่างดี เพราะจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดแรกที่รัฐบาลได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 – 2509 มาใช้กับพื้นที่ นโยบายที่เข้ามาในแต่ละยุคสมัยเป็นเพียงนโยบายที่ต้องการสร้างความเป็นรัฐ ต้องการให้ภาคอีสานมีความตระหนักถึงความเป็นหนึ่งของรัฐไทย นโยบายต่าง ๆ จึงเป็นการสร้างเพื่อส่งเสริมความเป็นรัฐผ่านพื้นที่อีสาน มุ่งหวังผลทางด้านการติดต่อผ่านเส้นทางคมนาคมพื้นฐาน เส้นทางการค้าขาย นโยบายการปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ขอนแก่นกลายเป็นเมือง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมา ผู้คนชาวอีสานมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตครั้งใหญ่ โดยหันไปพึ่งพาอาชีพตามแบบทุนนิยม ปรับเปลี่ยนจากภาคการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร มุ่งเน้นปริมาณการผลิตที่สูง เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดการส่งออกเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมามากมายสะท้อนผ่าน ประเพณีความเชื่อ วิถีการใช้ชีวิตที่หายไป สภาพแวดล้อมหลังการพัฒนา การเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพื้นที่ทางการค้า เกิดนายหน้าค้าที่ดิน ผู้คนชาวอีสานทิ้งงานภาคการเกษตรไปเป็นแรงงานในเมือง เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านความเป็นอยู่ เกิดปัญหาในสังคมเมือง สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหามาเท่าทุกวันนี้ ยกตัวอย่างปัจจุบันที่มีนโยบายการสร้างทางรถไฟ ก็เกิดปัญหาการเวนคืนที่ดินรอบสถานีรถไฟ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ขาดที่อยู่อาศัย โดยไม่มีนโยบายรองรับ จึงสร้างความลำบากให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ผู้สร้างสรรค์จึงต้องการสะท้อนปัญหาเหล่านี้ผ่านผลงาน เพื่อให้เกิดความตระหนักในพื้นที่ ทั้งผู้มอบนโยบาย และผู้อยู่ภายใต้นโยบาย ให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ ของวิถีชีวิต ประเพณีที่ดีงามของชาวอีสานและให้รัฐหันมาให้ความสำคัญกับความต้องการที่แท้จริงของชาวอีสาน

มีรูปแบบเป็นผลงานศิลปะสื่อประสมจัดวาง (Multimedia Installation Art)
และเป็นงานศิลปะจัดวางที่เจาะจงพื้นที่ (
Site Specific Installation Art)
โดย การจัดวางวัตถทางศิลปะ 3 ส่วนประกอบกันขึ้นเป็นชิ้นเดียว การรับรู้และการชมผลงานจะต้องชมในภาพรวมของผลงานทั้งหมดประกอบกันจึงจะสื่อความหมาย ผลงานในส่วนแรกจะเป็นรูปแบบกระเบื้องหลังคาดินเผา (ชาวอีสานเรียกกระเบื้องหลังคาดินขอ) ที่ประกอบสร้างบนไม้อัดจำลองแผนที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงสงครามเย็นที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และถูกใช้เป็นแผนที่ทางกายภาพเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และวางนโยบายการพัฒนาของรัฐ รูปทรงที่เกิดขึ้นในส่วนของดินเผาจะเป็นรูปทรงของพื้นที่ทางกายภาพที่ก่อตัวเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมที่เกิดจากการสร้างพื้นผิดโดยการเผาดินร่วมกับดินปืน เป็นรูปร่างสามเหลี่ยมแทนรูปทรงทรางความเชื่อเดิมของชาวอีสาน ในส่วนถัดมาเป็นส่วนของชนวนดินปืนที่สร้างมาจากรูปทรงของสามน้ำชี ซึ่งถือเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตของชาวอีสานและคนขอนแก่น อนึ่งอาจมองได้ว่ามีที่มาจากเส้นทางของถนนมิตรภาพที่สร้างจากนโยบายของรัฐ และอาจจจะมองได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนเส้นทางรถไฟได้อีกมุมหนึ่ง สุดแล้วแต่ผู้ชื่นชมผลงานจะมีประสบการณ์ไปในทิศทางไหน ผู้สร้างสรรค์ได้ทำการเผาและวางเส้นชนวนปูนปลาสเตอร์เคลื่อนไหวเข้าหาส่วนแผนที่หลังคากระเบื้องดินเผา ส่วนที่สามเป็นวีดีโอและเสียง ผู้สร้างสรรค์ยังใช้วีดีโอที่มีความเป็นตัวแทนของความหวังของชาวอีสานผ่านประเพณีบุญบั้งไฟ ทำให้เกิดการซ้อนทับของอดีตและปัจจุบัน ประกอบกับเสียงที่เป็นการโห่ร้องด้วยความดีใจ เหมือนการบ่งบอกถึงการมีความหวัง วีดีโอถูกจัดวางรับกับทิศทางการชมงานผ่านจอมอนิเตอร์ และเสียงส่งสัญญานออกทางลำโพงเสียง ทั้งหมดจะให้เล่นในลักษณะวนซ้ำ
















14/11/62

Affordable Art Fair in a row #1

Affordable Art Fair in a row #1, Noir Row Art Space
ความเป็นตัวตนของชาวอีสาน การมีอยู่ และการเปลี่ยนแปลงของผู้คนชาวอีสาน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านพื้นที่ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ผ่านการใช้ภาพตัวแทนของคนอีสาน เพื่อทบทวนถึงการให้ความสำคัญกับความเป็นอีสานนิยม รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกในความเป็นคนเชื้อชาติ ไท-ลาว เพื่อโยงไปถึงจิตสำนึกในการรักพื้นที่ หวงแหนซึ่งวัฒนธรรมความดีงาม เห็นความสำคัญ หันกลับมาเรียนรู้ทำความเข้าใจ และรักษาความเป็นพื้นถิ่นไว้ให้คงอยู่