15/11/62

"การพยายามทำความเข้าใจเพียง 15 วินาที"

"การพยายามทำความเข้าใจเพียง 15 วินาที" Negative Afterimage, 2019

การทำแผนที่ทางอากาศในช่วงยุคสงครามเย็นเป็นที่มาในการสร้างสรรค์ผลงาน
ชิ้นนี้การทำแผนที่ทางอากาศเกิดจากความร่วมมือของรัฐไทยกับสหรัฐอเมริกาใน
ช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยเกิดความไม่มั่นใจในความมั่นคงของจังหวัดชายแดนอีสานที่มี
อาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว เนื่องด้วยความต้องการให้คนอีสานไม่หันไปฝักใฝ่ใน
การปกครองระบอบสังคมนิยม การเข้ามาจัดการโดยการมองพื้นที่อีสานเป็นเพียงพื้นที่
ที่ต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบ การเข้ามามีบทบาทของภาครัฐกับชุมชนชาวอีสาน การ
สำรวจโดยการลงพื้นที่อีสานมีเป้าประสงค์เพื่อสอดส่งดูแลไม่ให้ชาวอีสานหันไปนิยม
และมีอุดมการณ์ร่วมกับคอมมิวนิสต์ การสร้างแผนที่ด้วยภายถ่ายทางอากาศโดย
เทคโนโลยีสมัยใหม่ของอเมริกาในขณะนั้นจึงเป็นเครื่องมือของรัฐชั้นดี ทุกตารางเมตร
ในพื้นที่ของอีสานถูกตั้งหมุดหมายและกำหนดลักษณะทางกายภาพลงบนกระดาษ 
ทำให้รัฐไทยและอเมริกาสามารถรับรู้ที่ตั้งของชุมชนและสิ่งปลูกสร้างทุกอย่าง 
ผ่านการสำรวจและการทำแผนที่ หากแต่การสำรวจและการสร้างแผนที่นั้นเป็นการมอง
ผ่านกรอบทางการเมือง และยุทธศาสตร์การทหาร ของบุคคลภายนอกพื้นที่ ที่สำคัญ
คือการเข้าไปสำรวจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในความต้องการของชาว
อีสานอย่างแท้จริง จึงเป็นการสรุปและดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นคน
อีสานมีการเคลื่อนตัว และเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาเนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่แห้ง
แล้งจำเป็นต้องย้ายถิ่นเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น “พื้นที่” ทางกายภาพที่สามารถเป็น
หมุดหมายที่จะบ่งบอกว่าพื้นที่นั้นคือชนกลุ่มไหนเชื้อชาติอะไรเป็นคอมมิวนิสต์หรือ
ไม่ที่เคยสำรวจไว้จึงใช้ไม่ได้กับผู้คนชาวอีสาน จึงเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจ 
และยากที่จะรวมรัฐเข้าสู่ศูนย์กลางในช่วงเวลานั้น

การทำแผนที่ทางอากาศจึงเป็นเพียงภาพตัวแทนทางกายภาพของพื้นที่อีสาน 
ที่ปรากฏอยู่บนกระดาษเท่านั้น แต่แผนที่นั้นไร้ซึ่งความมีชีวิตของผู้คนชาวอีสาน 
การเข้ามาของอเมริกาในไทยอีกประการคือการมาใช้ไทยเป็นที่ตั้งฐานทัพทางทหาร
ในช่วงสงครามเวียดนาม เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐไทยและอเมริกามองชาวอีสานเป็นเพียง
พื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น เพื่อต้องการสร้างความเป็นรัฐแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์
กลางกรุงเทพฯ และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความหวังของชาวอีสานไม่ได้รับการตอบสนอง

ผู้สร้างสรรค์ได้นำเทคนิค ภาพติดตาแบบเนกาทีฟ (Negative Afterimage) มาใช้
ในกาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้โดยภาพติดตานั้นเป็นปฏิกิริยาการรับรู้ทางสายตาของ
มนุษย์ ความรู้สึกในการเห็นภาพค้างอยู่ในสมองได้ชั่วขณะทั้ง ๆ ที่ไม่มีภาพของวัตถุ
นั้นอยู่บนจอภาพแล้ว ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างภาพถ่ายในแบบเนกาทีฟ ให้ผู้ชมได้จ้อง
มองภาพระยะหนึ่งแล้วหันไปมองภาพพื้นสีขาว จะทำให้เห็นภาพติดตาชั่วขณะและ
ความเป็นตัวตนจริง ๆ ของผู้สร้างสรรค์จะปรากฏขึ้น และภาพเนกาทีฟที่ติดตาอยู่ก็
จะกลับค่าของสีเป็นภาพจริง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น