15/11/62

Khon Kaen Manifesto

Khon Kaen Manifesto : GF Building, Khon Kaen, Thailand

ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน ในแต่ละส่วนจะมีความสำคัญที่จะช่วยเป็นส่วนเสริมทางด้านการรับรู้เนื้อหาและแนวความคิดที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการที่จะแสดงออก แลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่การแสดงผลงานคือตึก GF ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นตึกร้างในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ประมาณ พ.ศ. 2542 ในอดีตตึกนี้เป็นตึกสถาบันการเงิน แต่เนื่องด้วยปัญหาการเงินต่อมาสถาบันจึงได้ปิดทำการลง ตึกนี้จึงเป็นสัญลักษณ์และเป็นตัวแทนของความล่มสลายและเป็นผลกระทบจากนโยบายของรัฐในภาคอีสานได้เป็นอย่างดี เพราะจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดแรกที่รัฐบาลได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 – 2509 มาใช้กับพื้นที่ นโยบายที่เข้ามาในแต่ละยุคสมัยเป็นเพียงนโยบายที่ต้องการสร้างความเป็นรัฐ ต้องการให้ภาคอีสานมีความตระหนักถึงความเป็นหนึ่งของรัฐไทย นโยบายต่าง ๆ จึงเป็นการสร้างเพื่อส่งเสริมความเป็นรัฐผ่านพื้นที่อีสาน มุ่งหวังผลทางด้านการติดต่อผ่านเส้นทางคมนาคมพื้นฐาน เส้นทางการค้าขาย นโยบายการปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ขอนแก่นกลายเป็นเมือง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมา ผู้คนชาวอีสานมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตครั้งใหญ่ โดยหันไปพึ่งพาอาชีพตามแบบทุนนิยม ปรับเปลี่ยนจากภาคการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร มุ่งเน้นปริมาณการผลิตที่สูง เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดการส่งออกเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมามากมายสะท้อนผ่าน ประเพณีความเชื่อ วิถีการใช้ชีวิตที่หายไป สภาพแวดล้อมหลังการพัฒนา การเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพื้นที่ทางการค้า เกิดนายหน้าค้าที่ดิน ผู้คนชาวอีสานทิ้งงานภาคการเกษตรไปเป็นแรงงานในเมือง เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านความเป็นอยู่ เกิดปัญหาในสังคมเมือง สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหามาเท่าทุกวันนี้ ยกตัวอย่างปัจจุบันที่มีนโยบายการสร้างทางรถไฟ ก็เกิดปัญหาการเวนคืนที่ดินรอบสถานีรถไฟ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ขาดที่อยู่อาศัย โดยไม่มีนโยบายรองรับ จึงสร้างความลำบากให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ผู้สร้างสรรค์จึงต้องการสะท้อนปัญหาเหล่านี้ผ่านผลงาน เพื่อให้เกิดความตระหนักในพื้นที่ ทั้งผู้มอบนโยบาย และผู้อยู่ภายใต้นโยบาย ให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ ของวิถีชีวิต ประเพณีที่ดีงามของชาวอีสานและให้รัฐหันมาให้ความสำคัญกับความต้องการที่แท้จริงของชาวอีสาน

มีรูปแบบเป็นผลงานศิลปะสื่อประสมจัดวาง (Multimedia Installation Art)
และเป็นงานศิลปะจัดวางที่เจาะจงพื้นที่ (
Site Specific Installation Art)
โดย การจัดวางวัตถทางศิลปะ 3 ส่วนประกอบกันขึ้นเป็นชิ้นเดียว การรับรู้และการชมผลงานจะต้องชมในภาพรวมของผลงานทั้งหมดประกอบกันจึงจะสื่อความหมาย ผลงานในส่วนแรกจะเป็นรูปแบบกระเบื้องหลังคาดินเผา (ชาวอีสานเรียกกระเบื้องหลังคาดินขอ) ที่ประกอบสร้างบนไม้อัดจำลองแผนที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงสงครามเย็นที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และถูกใช้เป็นแผนที่ทางกายภาพเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และวางนโยบายการพัฒนาของรัฐ รูปทรงที่เกิดขึ้นในส่วนของดินเผาจะเป็นรูปทรงของพื้นที่ทางกายภาพที่ก่อตัวเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมที่เกิดจากการสร้างพื้นผิดโดยการเผาดินร่วมกับดินปืน เป็นรูปร่างสามเหลี่ยมแทนรูปทรงทรางความเชื่อเดิมของชาวอีสาน ในส่วนถัดมาเป็นส่วนของชนวนดินปืนที่สร้างมาจากรูปทรงของสามน้ำชี ซึ่งถือเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตของชาวอีสานและคนขอนแก่น อนึ่งอาจมองได้ว่ามีที่มาจากเส้นทางของถนนมิตรภาพที่สร้างจากนโยบายของรัฐ และอาจจจะมองได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนเส้นทางรถไฟได้อีกมุมหนึ่ง สุดแล้วแต่ผู้ชื่นชมผลงานจะมีประสบการณ์ไปในทิศทางไหน ผู้สร้างสรรค์ได้ทำการเผาและวางเส้นชนวนปูนปลาสเตอร์เคลื่อนไหวเข้าหาส่วนแผนที่หลังคากระเบื้องดินเผา ส่วนที่สามเป็นวีดีโอและเสียง ผู้สร้างสรรค์ยังใช้วีดีโอที่มีความเป็นตัวแทนของความหวังของชาวอีสานผ่านประเพณีบุญบั้งไฟ ทำให้เกิดการซ้อนทับของอดีตและปัจจุบัน ประกอบกับเสียงที่เป็นการโห่ร้องด้วยความดีใจ เหมือนการบ่งบอกถึงการมีความหวัง วีดีโอถูกจัดวางรับกับทิศทางการชมงานผ่านจอมอนิเตอร์ และเสียงส่งสัญญานออกทางลำโพงเสียง ทั้งหมดจะให้เล่นในลักษณะวนซ้ำ
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น