15/11/62

Flow : L708 Tetris

Flow : L708 Tetris

เกมส์เตตรีส (Tetris) ถูกสร้างขึ้นจากวิศวกรคอมพิวเตอร์ชาวรัสเซียใน ค.ศ. 1984 เป็นที่นิยมเล่นอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกในเวลานั้น ต่อมาบริษัทนินเทนโด (Nintendo) ของอเมริกาได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นเกมส์แบบพกพาเป็นที่แพร่หลายมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ สิ่งที่ทำให้เตตรีสได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และประสบความสำเร็จไปทั่วโลก นั่นคือ หลักการจัดระเบียบที่สอดแทรกอยู่ในเกมส์ เพราะในทางจิตวิทยานั้น มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็น Perfectionist และปรารถนาที่อยากจะหลีกหนีจากความซับซ้อนวุ่นวายที่ซ่อนลึกอยู่ภายในจิตใจ จากนั้นเตตรีสจะดึงความสนใจให้ติดอยู่กับเกมส์ด้วยภารกิจทำลายบล็อคที่หล่นลงมาอย่างไม่จบสิ้น ทำให้มีผู้เล่นเกมส์นี้ที่ติดถึงขนาดคิดจะจัดระเบียบสิ่งของทุกอย่างในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการจอดรถ หรือของที่วางที่ซุปเปอร์มาเก็ต บางคนสามารถมีอาการได้ถึงขั้นที่เห็นบล็อกเตตรีสหล่นลงมาในฝัน อาการเหล่านี้เรียกว่า เตตรีส เอฟเฟค (Tetris Effect) อย่างไรก็ตามเกมส์นี้ก็ยังมีข้อดีอยู่ เพราะจากการวิจัยทางการแพทย์พบว่าเตตรีสสามารถช่วยบรรเทาอาการโรค PTSD หรือผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียดหลังจากเจออย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ และทหารที่เพิ่งกลับจากการรบ เพราะรูปแบบภารกิจของเกมส์ที่ต้องเกาะติดกับการเลือกชิ้นส่วนที่เหมาะสมลงในช่องว่างนั้น สามารถดึงสมาธิ และความสนใจของผู้ป่วย ไม่ให้มีการฉายภาพความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมาในสมอง ซึ่งนั่นก็จะสามารถช่วยลดอาการความเครียดได้นั่นเอง (วอส์ยทีวี: 2556)
          ลักษณะการเล่นเกมส์ของเตตรีสที่เป็นการเรียงช่องสี่เหลี่ยมนี่เองที่มีส่วนคล้ายกับการเรียงและการปะติดปะต่อพื้นที่ทางกายภาพของการสร้างแผนที่ทางอากาศในยุคสงครามเย็น ผู้สร้างสรรค์มีความเห็นว่าลักษณะการสร้างแผนที่และการมองพื้นที่ของอีสานเป็นเพียงแค่เกมส์การเมืองของรัฐไทยและอเมริกาการจัดวางพื้นที่ การสำรวจเกิดด้วยการถ่ายภาพทางอากาศไปทีละระวางบนแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกิดการเรียงปะติดปะต่อจนครบตามความประสงค์ โดยมีรัฐบาลกลางและอเมริกาเป็นผู้เล่น และชาวอีสานเป็นผู้ถูกจัดวาง นักจิตวิทยาได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าเกมส์เตตรีสจะเป็นที่นิยมเล่นเพื่อลดแรงกดดันจากเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้เล่นเกิดความกังวน และจะผ่อนคลายลงเมื่อประสบผลสำเร็จในการเล่น ผู้สร้างสรรค์มองว่าลักษณะดังกล่าวสามารถเทียบเคียงกับความกังวลของอเมริกาและรัฐไทยในภูมิภาคอีสาน เกิดกดดัน ความกลัวเกรงว่าชาวอีสานจะหันไปนิยมระบอบสังคมนิยม จึงได้สร้างกระบวนการหรือกลไกในการผ่อนคลายแรงตรึงเคลียดลงด้วยวิธีการเข้ามาจัดการ “พื้นที่” และคนอีสาน เมื่อได้ผลสำริดในระดับหนึ่งแล้วจึงลดความตรึงเคลียดนั้นลง ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เป็นงานทัศนศิลป์แบบจัดวางเกมส์และภาพกราฟิกแบบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม (Interactive Game Installation) ผลงานจะบรรลุเป้าหมายในการรับรู้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือเล่นเกมส์และได้ชมงานกราฟิกบนหน้าจอมอนิเตอร์ ประกอบกับตัวอักษร (Text) อธิบายผลงาน มีการนำภาพแผนที่ทางอากาศแบบกราฟิกมาใช้ในงานอีกองค์ประกอบหนึ่งเพื่อให้ผู้ชมผลงานเกิดจินตนาการเชื่อมโยงและพยายามอ่านสารที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการสื่อ












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น